เรียนภาษาฝรั่งเศสมีประโยชน์อย่างไร


เรียนภาษาฝรั่งเศสแล้วใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

ในประเทศไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสมากนักก็จริงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามในโลกนี้มีประชากรของประเทศต่าง ๆ ใน 5 ทวีปทั่วโลกกว่า 110 ล้านคน ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาราชการที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก หรือสหภาพยุโรป ดังนั้น การใช้ภาษาฝรั่งเศสยังคงมีความจำเป็นในการทำงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสายงานต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ใช้ภาษาฝรั่งเศส เช่น การท่องเที่ยว การค้า การส่งออกและนำเข้า งานแปล งานวิเทศสัมพันธ์ในองค์กรภาครัฐและเอกชน
ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาของประเทศที่
เป็นศูนย์รวมทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก
นำการพัฒนาของสหภาพยุโรป
กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสกว่า 50 ประเทศ
มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก
อยู่ในกลุ่มผู้นำทางด้านการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์
มีมาตรฐานการครองชีพอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก
ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเลือกภาษาต่างประเทศอันดับหนึ่ง

หากต้องการไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส จำเป็นจะต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสไปก่อนหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาฝรั่งเศสมาก่อนก็ได้ มหาวิทยาลัยฝรั่งเศสทั่วประเทศพร้อมที่จะรับคุณเข้าเรียนหากคุณมีความรู้พื้นฐานในสายวิชาการ หรือวิชาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งดีพอ และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของคุณในระดับที่สูงขึ้นไป เช่น ปริญญาโท ปริญญาเอกหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
สิ่งที่คุณควรทำเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อคือ สมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสในสถาบันภาษาแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี (หลักสูตรเร่งรัดวันละ 4-5 ชั่วโมงทุกวัน) เพื่อสร้างทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน จนพอที่จะสื่อสารกับเพื่อนและอาจารย์ได้ เมื่อไปถึงฝรั่งเศสและส่ง ใบสมัครเข้าเรียนตามกำหนดแล้วคุณจะต้องเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อสัมภาษณ์ โดยอาจารย์จะประเมินความรู้เฉพาะด้านของคุณ แรงจูงใจใน การเข้าเรียน และการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร อาจารย์จะเป็นผู้ตัดสินรับคุณเข้าศึกษาได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบเข้า
ในปัจจุบัน มีหลักสูตรการสอนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนมากขึ้น ในหลาย ๆ สาขาวิชา อย่างไรก็ตาม ในการใช้ชีวิตประจำวันก็ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส

ถ้าไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสไปก่อนจะไม่ลำบากแย่หรือ เพราะชาวฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ

ชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ใช้ภาษาอังกฤษ อาจเป็นเพราะชาวฝรั่งเศสมีความภูมิใจในภาษาของตน และมีการพัฒนาของตนเองเพียงพอที่จะไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ
ในทางตรงกันข้ามความไม่รู้ของพวกเขาน่าจะเป็นผลดีกับคุณ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้คุณพูดภาษาฝรั่งเศสจนคล่องภายในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะความจำเป็นบังคับ อย่างไรก็ดี คนฝรั่งเศสรุ่นใหม่มีความรู้ภาษาต่างประเทศดีกว่าเดิมมาก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากสื่อต่าง ๆ ในโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน และการสร้างจิตสำนึกเรื่องการมีส่วนร่วมในสหภาพยุโรป
จะศึกษาต่อด้านใดได้บ้าง

คนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักประเทศฝรั่งเศสเพียงบางแง่มุมเท่านั้น เช่น แฟชั่น น้ำหอม ไวน์ อาหารเลิศรส และงานศิลปะ นอกเหนือจากภาพพจน์เดิม ๆ แล้ว ฝรั่งเศสในปัจจุบันมีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถไฟความเร็วสูง (TGV) ที่ช่วยให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วและสะดวกสบายพอ ๆ กับนั่งเครื่องบิน จรวดแอเรียนที่ส่งดาวเทียมไทยคมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือโครงการไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 80% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดภายในประเทศฝรั่งเศส หรือการค้นพบไวรัสโรคเอดส์ ดังนั้น นอกจากวิชามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาในอดีต (กฎหมาย รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์และวรรณคดี การสอนภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาต่างประเทศ การแปล เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ) นักวิชาการฝรั่งเศสยังเป็นที่ยอมรับจนได้รับรางวัลโนเบลมาแล้วหลายท่าน (4 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) นักเรียนไทยสามารถเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ เทคโนชีวภาพ ฯลฯ ในระดับสูงได้อีกด้วย

เหตุใดจึงไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส

สถาบันการศึกษาของฝรั่งเศสเป็นของรัฐเกือบทั้งสิ้น โดยได้งบประมาณจากรัฐและไม่มีวัตถุประสงค์ทางด้านกำไร ดังนั้น จึงไม่ค่อยมีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ ทั้ง ๆ ที่สถาบันการศึกษาของฝรั่งเศสมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศ และมีมาตรฐานใกล้เคียงกันทั่วประเทศ บางแห่งมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในอันดับต้น ๆ ของยุโรป เช่น โรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนโพลีเทคนิค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังรัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาก้าวเข้าไปสู่ระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยของประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่ง มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การส่งนักศึกษาไปฝึกงาน และการส่งอาจารย์ไปเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ
สถาบันการศึกษาฝรั่งเศสมีนโยบายจะขยายการรับนักศึกษาต่างชาติจากประเทศที่ยังมีจำนวนนักศึกษาไม่มาก ดังเช่นหลายประเทศในเอเชีย จึงมีการริเริ่มจัดงานแนะแนวการศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส เช่น ในประเทศไทยได้จัดการแนะแนวการศึกษาต่อฝรั่งเศสทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดบรรยายพิเศษเกี่ยวกับระบบการศึกษาฝรั่งเศสในสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง

มีนักศึกษาต่างชาติในประเทศฝรั่งเศส จำนวนเท่าใด

นักศึกษาต่างชาติในประเทศฝรั่งเศสมีจำนวนทั้งหมด ประมาณ 140,000 คน ทั่วประเทศคิดเป็น 10% ของประชากรนักศึกษาทั้งหมด
ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่ก็มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยจากหลายประเทศในยุโรป อเมริกา อเมริกาใต้ นักศึกษาจากทวีปเอเชียยังมีไม่มากนัก (คิดเป็นประมาณ 15% ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด) ส่วนใหญ่มาจากไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น

สถานภาพของนักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างไร

นักศึกษาต่างชาติมีสถานภาพไม่ต่างจากนักศึกษาฝรั่งเศสแต่อย่างใด แม้แต่การจ่ายค่าเล่าเรียนในจำนวนที่เท่ากัน เรียนรู้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ประกาศนียบัตรและปริญญาที่ได้รับจึงมีศักดิ์ และสิทธิ์เท่าเทียมกันทุกประการ และคุณยังจะได้กำไรชีวิตจากการรู้ภาษาที่สามเพิ่มจากภาษาอังกฤษและภาษาแม่ของคุณเอง การเรียนรู้วิธีการเรียน วิธีการทำงาน วิธีการคิด อีกทั้งการได้รู้จักวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่คุณคุ้นเคย สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการปรับตัวในโลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนเป็นอย่างยิ่ง

ประกาศนียบัตรและปริญญาของสถาบันการศึกษาฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับในประเทศไทยหรือไม่

สถาบันการศึกษาฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นของรัฐ ในส่วนที่เป็นสถาบันเอกชน เช่น โรงเรียนสอนการโรงแรม การออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เทียบประกาศนียบัตรและปริญญาในระดับต่าง ๆ ให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ได้แก่
- Diplôme ขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เรียน อาจแตกต่างกันมาก เช่น ประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าฝึกอบรมระยะสั้น หรือประกาศนียบัตรระดับวิศวกรรมศาสตร์ก็ได้
- Licence จบหลักสูตรได้ภายใน 3 ปี เทียบเท่าปริญญาตรี
- Maîtrise จบหลักสูตรได้ภายใน 1-2 ปี มักมีการทำวิทยานิพนธ์ เทียบเท่าปริญญาโท
- DEA จบหลักสูตรได้ภายใน 1 ปี เป็นประกาศนียบัตรระดับสูงเน้นความพร้อมด้านระเบียบวิธีการวิจัย เพื่อเขียนวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาเอกต่อไป เมื่อได้ประกาศนียบัตรนี้แล้ว จะสามารถขออนุมัติหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ เทียบได้กับระดับปริญญาที่สูงกว่าปริญญาโทหนึ่งขั้น
- DESS จบหลักสูตรได้ภายใน 1 ปี เป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ขั้นสูงเฉพาะด้าน เช่น การแปล ล่าม กฎหมายธุรกิจ ฯลฯ เป็นระดับปริญญาที่สูงกว่าปริญญาโทหนึ่งขั้น
- Doctorat จบหลักสูตรได้ภายใน 3-5 ปี เทียบเท่าปริญญาเอก

จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดในการศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส

รัฐบาลฝรั่งเศสจัดงบประมาณสนับสนุนระบบการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับทุกคน และมีโอกาสสร้างความก้าวหน้าในชีวิต โดยเฉลี่ยต่อปี ค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสต่อคนคิดเป็นเงิน 7,200 ยูโร สำหรับสาขาวิชาขั้นสูงบางสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ รัฐบาลฝรั่งเศสอาจมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 13,600 ยูโร ต่อคน
โดยความเป็นจริงแล้ว นักศึกษาแต่ละคนจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยเพียงแค่ประมาณ 230 ยูโร รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ ในรูปแบบของการสนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันการศึกษา เป็นเงิน 6,860 ยูโร ต่อปี สำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหนึ่งคน (ข้อมูลตัวเลขจากฝ่ายประเมินและวางแผน กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส)
นักศึกษาฝรั่งเศส และนักศึกษาต่างชาติ ต่างก็มีค่าใช้จ่ายในการ ลงทะเบียนดังที่แสดงไว้ข้างต้นเท่ากัน จึงอาจกล่าวได้ว่า นักศึกษาชาวต่างชาติทุกคนในประเทศฝรั่งเศสเป็นนักเรียนทุนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินส่วนหนึ่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยเหมือนกัน

จะเลือกสถานศึกษาอย่างไรดี

ในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งมีคณะ สาขาวิชา และ หลักสูตรที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จึงควรเลือกสถานศึกษาตามข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
สำหรับระดับมหาบัณฑิตศึกษา คุณควรสำรวจความต้องการที่แท้จริงของตนเองเสียก่อนว่ามุ่งมั่นจะเรียนสาขาวิชาเฉพาะด้านสาขาใด และหากเป็นไปได้ควรคิดถึงหัวข้อที่ต้องการจะศึกษา เช่น ต้องการมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน กฎหมายธุรกิจ หรือกฎหมายสหภาพยุโรป เป็นต้น
ในระดับปริญญาเอก แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นของสาขาวิชาที่ทำการค้นคว้าวิจัยต่างกันออกไป จึงควรหาข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้น อีกประการหนึ่ง มหาวิทยาลัยจะรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก ก็ต่อเมื่อมีการตอบรับจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว จึงจำเป็นต้องติดต่อกับอาจารย์โดยตรง เพื่อเจรจาให้รับเป็นที่ปรึกษาในหัวข้อเฉพาะนั้น ๆ ทางที่ดีที่สุดคือ คุณควรติดต่อขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนวการศึกษาของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสฝ่ายวัฒนธรรม

จะเรียนในกรุงปารีสหรือเมืองอื่น ทางเลือกใดดีกว่ากัน

ในสายตาคนไทย ปารีสคือฝรั่งเศส และฝรั่งเศสคือปารีส หรือไม่ก็ จำได้แต่ชื่อ “ลา ซอร์บอนน์ (La Sorbonne)” แท้ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยปารีส มีถึง 13 แห่งด้วยกัน เรียกโดยใช้ตัวเลขต่อท้ายแต่ละแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยปารีส 4
ลา ซอร์บอนน์ ตั้งชื่อจากนามของ โรแบรต์ เดอ ซอร์บง (Robert de Sorbon) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยปารีส ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) หมายถึงมหาวิทยาลัยปารีส 4 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐในเมืองอื่น ๆ อีก 90 แห่งด้วยกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวฝรั่งเศสไม่นิยมอ้างสถาบัน แต่จะบอกว่าตนจบสาขา วิชาใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยฝรั่งเศสทุกแห่ง มีมาตรฐานการศึกษาใกล้เคียงกัน
ปริญญาของมหาวิทยาลัยได้รับการรับรองวิทยฐานะจากรัฐบาล ดังนั้น การเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยปารีส หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ จึงไม่มีความแตกต่างทางวิชาการมากนัก สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกสถานศึกษา จึงน่าจะเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองนั้น ๆ เสียมากกว่า เช่น สภาพทั่วไปของเมือง ที่อยู่อาศัย ลมฟ้าอากาศ (ภาคใต้ของฝรั่งเศสมีอากาศอบอุ่นกว่ามาก) ค่าครองชีพ ความเอื้ออารีของผู้คน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมสำหรับเยาวชน ฯลฯ